รายวิชาความถนัดทางนิติ - รัฐศาสตร์ รหัสวิชา ส 30230 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เวลาเรียน 40 ชั่วโมง/ภาคเรียน จำนวน 1.0 หน่วยกิต
ศึกษาเนื้อหาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ทั้งในส่วนเนื้อหาเบื้องต้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 - 6) และวิชาเฉพาะนิติศาสตร์ ในขอบเขตเนื้อหา ได้แก่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฏหมาย กฎหมายลักษณะบุคคล นิติกรรม สัญญา หนี้ เอกเทศสัญญา ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ทรัพย์ ครอบครัว มรดก อาญาทั่วไป ภาคความผิด เกี่ยวกับทรัพย์ ชีวิตร่างกาย กฎหมายพิเศษ เช่น วิธีพิจารณาแพ่งฯ อาญา พยาน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาล กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีวิชาเฉพาะทางรัฐศาสตร์ อันได้แก่ แขนงวิชาการเมืองการปกครอง ได้แก่ การเมืองการปกครองทั้งไทยและประเทศสำคัญ หลักทฤษฎีการเมือง ระบบการเมือง พฤติกรรมการเมือง และการเมืองเปรียบเทียบ แขนงวิิชาการบริหารรัฐกิจ - รัฐประศาสนศาสตร์ การบริหารภาครัฐ การวางแผน และการดำเนินนโยบายการบริหารต่างๆ ขององค์การรัฐ และแขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งทฤษฎี นโยบายต่างประเทศ รวมไปถึงองค์การ+กฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงการฝึกการเขียนเรียงความทางรัฐศาสตร์
โดยใช้กระบวนการกลุ่ม กระบวนการคิด กระบวนการปฏิบัติ กระบวนการเผชิญสถานการณ์ กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ สามารถนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์ มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรอบรู้กฎหมายทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการเสริมหรือทบทวนความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในสิ่งที่เรียนมา เพื่อช่วยนักเรียนให้มีโอกาสฝึกวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ฝึกการลำดับความคิด และฝึกทักษะการวิเคราะห์ด้วยการเขียนตอบแบบฝึกหัดปัญหาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์ หรือการเขียนวิเคราะห์ข้อสอบวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์
เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ ได้ สามารถใช้วิชาให้ถูกต้องแก่กรณี รู้จักใช้เหตุผล เข้าใจในตัวบทกฎหมาย ความรู้ ทฤษฎี ทั้งในการตีความและเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมไปถึงการนำไปใช้ในดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและขั้นสูงกว่า
ผลการเรียนรู้ รวมทั้งหมด 4 ผลการเรียนรู้ ได้แก่
นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในภาพรวม
นักเรียนสามารถเขียนเรียงความทางรัฐศาสตร์ได้
นักเรียนสามารถนำความรู้ การฝึกปฎิบัติการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย และรัฐศาสตร์ ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
นักเรียนสามารถใช้วิชาให้ถูกต้องแก่กรณี รู้จักใช้เหตุผล เข้าใจในตัวบทกฎหมาย ความรู้ ทฤษฎี ทั้งในการตีความและเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมไปถึงการนำไปใช้ในดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ